
กฎหมายเป็นกฎเกณฑ์ที่รัฐกำหนดขึ้น เพื่อบังคับให้มีการประพฤติปฏิบัติตาม หากผู้ใดละเมิดหรือไม่ปฏิบัติตามก็จะได้รับโทษ กฎหมายคือเครื่องมือของรัฐในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ และเป็นเรื่องที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันและการดำเนินงานของทุกคน โดยเฉพาะผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษา ย่อมต้องใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการดำเนินงานด้วย
ความสำคัญของกฎหมายการศึกษา
การดำเนินงานทางการศึกษา เป็นบริการที่เกี่ยวข้องกับผู้คนเป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นฝ่ายจัดการศึกษา ฝ่ายรับบริการทางการศึกษา และฝ่ายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ โดยบุคคลดังกล่าว ต้องปฏิบัติและดำเนินงานตามบทบาทหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ดังนั้นกฎหมายจึงมีความสำคัญต่อการดำเนินงานทางการศึกษากล่าวได้ ดังนี้
1. กฎหมายเป็นเครื่องมือในการดำเนินงานจัดการศึกษาของรัฐและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถจัดการศึกษาเป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายได้
2. กฎหมายการศึกษาเป็นกรอบการดำเนินงานที่ช่วยให้การบริหารการศึกษาเป็นไปอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ เป็นที่ยอมรับของผู้รับบริการและสังคม
3. กฎหมายการศึกษาช่วยให้สามารถใช้การศึกษาพัฒนาเด็กและเยาวชน เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ
4. กฎหมายการศึกษาทำให้ประชาชนของประเทศเกิดสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษา ทำให้สามารถปฏิบัติตนตามสิทธิและหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม
ด้วยบทบาทดังกล่าว กฎหมายและกฎหมายการศึกษาจึงมีความสำคัญในฐานะเป็นเครื่องมือดำเนินงานเกี่ยวกับการศึกษาของชาติ หากขาดกฎหมายแล้วอาจทำให้การจัดการศึกษาไม่บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายได้
พระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา
- พรบ. ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2546
- พรบ. ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2553
- พรบ. ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562
- พรบ. การศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2542
- พรบ. การศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545
- พรบ. การศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553
- พรบ. การศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562
- พรบ. การศึกษาภาคบังคับ พ.ศ. 2545
- พรบ. วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561